รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 7

มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดแข่งขัน “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” รางวัลพระราชทานอันทรงเกียรติ ครั้งที่ 7

มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ (มส.) หรือ Foundation for Research in Information Technology (FRIT) จัดการแข่งขันโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศดีเด่น เข้ารับ “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลพระราชทาน จารึกอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” พร้อมเงินรางวัล 1 ล้านบาท

ดร.อมฤต เหล่ารักพงษ์ ประธานกรรมการมูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วยนายจรัมพร โชตกเสถียร กรรการมูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ, ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และนายอดิเรก ปฏิทัศน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการประกวด “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 7 ซึ่งในครั้งนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ผลงานชนะเลิศของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทุกประเภทจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 (NSC 2012) และผลงานชนะเลิศของบุคคลทั่วไปจากการแข่งขัน Thailand ICT Awards (TICTA) ประจำปี 2554 จะได้รับสิทธิ์เข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 7 พร้อมขอเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนและนิติบุคคลร่วมส่งผลงานวิจัยหรือผลงานเชิงประยุกต์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าแข่งขันได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 พฤศจิกายน 2554

มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศจัดให้มีการประกวดรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ มาอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ. 2554 นี้ กำหนดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 เพื่อสนับสนุนงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล สามารถนำมาพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศหรือพัฒนาในเชิงธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง

การแข่งขันแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคล และประเภท นักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยมูลนิธิฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษามูลนิธิฯ พระราชทานโล่รางวัล แก่ผู้ชนะทั้ง 2 ประเภท นอกจากนี้ผู้ชนะประเภทบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคลจะได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท และประเภท นักเรียน นิสิต นักศึกษา จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันต้องเป็นผลงานวิจัยหรือผลงานเชิงประยุกต์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ของคนไทยอาทิ Software, Hardware, Application, Solution, Communication, Network และต้องเป็นผลงานที่ประดิษฐ์คิดค้น ผลิตขึ้นในประเทศไทย และเป็นผลงานที่นำมาใช้ได้จริง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศหรือสามารถนำมาพัฒนาเป็นเชิงธุรกิจได้

บรรยากาศงานแถลงข่าว “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 7

สำหรับผลงานประเภทบุคคลทั่วไปจากทั้งหมด 81 ผลงาน คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าเนื่องจากไม่มีผลงานที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ จึงไม่มีการมอบรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 7 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้ง 81 ผลงาน มีผลงานที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้าน คณะกรรมการฯ จึงพิจารณามอบเงินรางวัลๆ ละ 100,000.- บาท จำนวน 2 รางวัล

ผลงานที่ได้รับรางวัล

ระบบแสดงภาพทางการแพทย์ในรูปแบบ 3 มิติ

รางวัลดีเด่นประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา ด้าน Virtual “ระบบแสดงภาพทางการแพทย์ในรูปแบบ 3 มิติ” โดยนายวีรศิลป์ อชิรพัฒน์กวีและคณะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี

ดนตรีไทยวงเครื่องสายบนโทรศัพท์มือถือ

รางวัลดีเด่นประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา ด้าน Edutainment “ดนตรีไทยวงเครื่องสายบนโทรศัพท์มือถือ” โดยนายธีรวัฒน์ นิมมาสุภวงศ์รัฐและคณะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โป้งแปะ

รางวัลดีเด่นประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา ด้าน Artificial Intelligence “โป้งแปะ” โดยนายเบญจรงค์ กัลยานมิตตาและคณะ วิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Surgical Operation Simulator

รางวัลดีเด่นประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา ด้าน Simulation “Surgical Operation Simulator” โดยนายสุทธิพงษ์ อนุชิตโอฬารและคณะมหาวิทยาลัยมหิดล

ระบบตอบสนองต่อสัญญาณกล้ามเนื้อด้วยเกมส์แอนิเมชั่นและกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยสัญญาณไฟฟ้า เพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคอัมพาต

รางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 7 “ระบบตอบสนองต่อสัญญาณกล้ามเนื้อด้วยเกมส์แอนิเมชั่นและกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยสัญญาณไฟฟ้า เพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคอัมพาต” โดยนางสาวปิยะรัตน์ สุธรรมพิทักษ์และคณะ มหาวิทยาลัยมหิดล

สอบถามความคิดเห็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ไร้สาย

รางวัลดีเด่นประเภทบุคคลทั่วไป ด้าน Embedded System “ระบบสอบถามความคิดเห็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ไร้สาย” โดย ผศ.อมร ตันวรรณรักษ์

ระบบการสื่อสารและการตลาดยุคใหม่สำหรับคนไทยทั้งประเทศและกลุ่มประชาคมอาเซียน

รางวัลดีเด่นประเภทบุคคลทั่วไป ด้าน Social Media Marketing “ระบบการสื่อสารและการตลาดยุคใหม่สำหรับคนไทยทั้งประเทศและกลุ่มประชาคมอาเซียน” โดยนายชวลิต จรรยารักษ์สกุล