มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดแข่งขัน “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” รางวัลพระราชทานอันทรงเกียรติ ครั้งที่ 8
มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ (มส.) หรือ Foundation for Research in Information Technology (FRIT) จัดการแข่งขันโคงการเทคโนโลยีสารสนเทศดีเด่น เข้ารับ “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลพระราชทาน จารึกอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” พร้อมเงินรางวัล 1 ล้านบาท
ดร.สุรพันธ์ เมฆาวิน รองประธานกรรมการมูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วยนางกนกเนตร เจริญเศรษฐศิลป์ กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ, ดร.กว้าน สีตะธรี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และนายอดิเรก ปฏิทัศน์ นายกสมาคมกิติมศักดิ์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการประกวด “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ผลงานชนะเลิศของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทุกประเภทจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 (NSC 2013) และผลงานชนะเลิศของบุคคลทั่วไปจากการแข่งขัน Thailand ICT Awards (TICTA) ประจำปี 2555 จะได้รับสิทธิ์เข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 8 พร้อมขอเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนและนิติบุคคลร่วมส่งผลงานวิจัยหรือผลงานเชิงประยุกต์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าแข่งขันได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2555
มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศจัดให้มีการประกวดรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ มาอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ. 2555 นี้ กำหนดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 เพื่อสนับสนุนงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล สามารถนำมาพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศหรือพัฒนาในเชิงธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง
การแข่งขันแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคล และประเภท นักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยมูลนิธิฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษามูลนิธิฯ พระราชทานโล่รางวัล แก่ผู้ชนะทั้ง 2 ประเภท นอกจากนี้ผู้ชนะประเภทบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคลจะได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท และประเภท นักเรียน นิสิต นักศึกษา จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันต้องเป็นผลงานวิจัยหรือผลงานเชิงประยุกต์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ของคนไทยอาทิ Software, Hardware, Application, Solution, Communication, Network และต้องเป็นผลงานที่ประดิษฐ์คิดค้น ผลิตขึ้นในประเทศไทย และเป็นผลงานที่นำมาใช้ได้จริง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศหรือสามารถนำมาพัฒนาเป็นเชิงธุรกิจได้
บรรยากาศงานแถลงข่าว “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 8










สำหรับผลงานประเภทบุคคลทั่วไป มีผลงานส่งเข้าประกวด 24 ผลงาน นอกจาก “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” แล้วคณะกรรมการได้พิจารณาผลงานที่มีความดีเด่นในแต่ละด้าน อีก 2 รางวัล รางวัลละ 1 แสนบาท
ภาพพระราชทาน “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 8
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษามูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ดร.อมฤต เหล่ารักพงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการ มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและคณะกรรมการ นำผู้ชนะเลิศการแข่งขันโครงการ “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 8 ประเภทบุคคลทั่วไป นายวุฒิกร มโนมัยวิบูลย์ พัฒนา “โปรแกรมประยุกต์เพื่อบริหารจัดการเครือข่ายข้อมูลบนแผนที่อนนไลน์” เข้ารับพระราชทานโล่พร้อมเงินรางวัล 1 ล้านบาท และประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา นายภัทรวิทย์ กิจเจตนี จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา พัฒนา “เครื่องจดบันทึกแบบพกพาสำหรับผู้พิการทางสายตา” รับพระราชทานโล่พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา








ผลงานที่ได้รับรางวัล
เครื่องจดบันทึกแบบพกพาสำหรับผู้พิการทางสายตา
รางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 8 ผลงาน “เครื่องจดบันทึกแบบพกพาสำหรับผู้พิการทางสายตา” โดยนายภัทรวิทย์ กิจเจตนี จาก มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
โปรแกรมประยุกต์เพื่อบริหารจัดการเครือข่ายข้อมูลบนแผนที่ออนไลน์
รางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 8 ผลงาน “โปรแกรมประยุกต์เพื่อบริหารจัดการเครือข่ายข้อมูลบนแผนที่ออนไลน์” โดยคุณวุฒิกร มโนมัยวิบูลย์ จากบริษัท อีคาร์ทสตูดิโอ จำกัด
“รีดด์-อัพ: โปรแกรมแปลงประโยคภาษาอังกฤษให้อ่านง่ายสำหรับผู้ฝึกฝนการอ่าน
รางวัลดีเด่นประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา ด้าน Knowledge Management ผลงาน “รีดด์-อัพ: โปรแกรมแปลงประโยคภาษาอังกฤษให้อ่านง่ายสำหรับผู้ฝึกฝนการอ่าน” โดยนายพีรเดช บางเจริญทรัพย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เคียว โปรแกรมพัฒนานิตยสารบน HTML5
รางวัลดีเด่นประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา ด้าน Edutainment ผลงาน “เคียว โปรแกรมพัฒนานิตยสารบน HTML5” โดยนายมนัสวิน หาญมงคลชัย จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
ระบบการวัดและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของข้อเข่า สำหรับการประเมินการเดินในการฟื้นฟูสมรรถภาพ
รางวัลดีเด่นประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา ด้าน Artificial Intelligence ผลงาน “ระบบการวัดและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของข้อเข่า สำหรับการประเมินการเดินในการฟื้นฟูสมรรถภาพ” โดยนายเนรมิธ จิรกาญจน์ไพศาล จากมหาวิทยาลัยมหิดล
AirSeaRoad
รางวัลดีเด่นประเภทบุคคลทั่วไป ด้าน Business ผลงาน “AirSeaRoad” โดยนายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ จากบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด
อุปกรณ์พิสูจน์ตัวตนด้วยการประทับตราบนโทรศัพท์มือถือ
รางวัลดีเด่นด้าน Embedded Application & Tools ผลงาน “อุปกรณ์พิสูจน์ตัวตนด้วยการประทับตราบนโทรศัพท์มือถือ” โดยนายดร.วิชญ์ เนียรนาทตระกูล บริษัท โมบิลิติ จำกัด